เขตอำเภอเมืองกระบี่

ข้อมูลทั่วไป
ประวัติความเป็นมา อำเภอเมืองกระบี่เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกระบี่ สืบความเป็นมาของเมืองได้ว่าเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างที่บ้านปกาไส (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าสมัยใครเป็นเจ้านคร) แต่การตั้งเพนียดจับช้างเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศนั้นเคยปรากฏในสมัยเจ้าพระยานคร(น้อย) จึงสันนิษฐานว่าการให้พระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดนั้น น่าจะอยู่ในช่วงสมัยดังกล่าวเพราะเส้นทางระหว่างกระบี่ - นครศรีธรรมราช ในสมัยต่อมาเรียกว่า "เส้นทางพระยานครค้าช้าง" การจับช้างคงมีสืบต่อกันมาจนสมัยเจ้านครคนหลัง มีผู้อพยพติตดามเข้ามาทำกินเพิ่มขึ้นส่วนมากอาศัยอยู่ตามปากน้ำต่าง ๆ เช่น คลองพน คลองปกาไส (ปกาสัย) คลองปากลาว เป็นต้น
เนื่องจากชุมชนเกิดขึ้นหลายแห่ง เกิดความยุ่งยากในการปกครองพระปลัดเมืองจึงตั้งเป็นแขวงเมืองขึ้น ชื่อว่า "แขวงเมืองปกาไส" (ปกาสัย) ขึ้นกับเมืองนครศรธรรมราช ต่อมาบริเวณที่ตั้งแขวงเมืองปกาไส ไม่สะดวกในการติดต่อ การคมนาคมไม่สะดวก จึงได้ย้ายมาตั้งที่ทำการใหม่ บ้านหินขวาง บริเวณปากน้ำกระบี่ เพราะติดต่อการคมนาคมสะดวก โดยใช้เส้นทางทะเล
พ.ศ.2415 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้ยกฐานะแขวงปกาไสขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า "เมืองกระบี่" โดยมีหลวงเทพเสนา เป็นเจ้าเมืองคนแรก ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช
พ.ศ.2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2444 พระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอขิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่าการตั้งที่ทำการเมืองกระบี่ ที่บ้านหินขวางนั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม ซึ่งต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะหลักในสมัยนั้น จึงให้พระยาอุตรกิจพิจารณ์ (เจ้าเมืองสมัยนั้น) ย้ายที่ทการเมืองกระบี่ ไปตั้งที่ปากน้ำกระบี่ อยู่ใกล้ร่องน้ำลึก เรือใหญ่เข้าเทียบท่าได้สะดวก จึงเป็นที่ตั้งของเมืองจนถึงปัจจุบัน
บริเวณบ้านหินขวางเมื่อได้ย้ายที่ทำการเมืองกระบี่ไปแล้ว ชาวบ้านเรียกสถานที่นี้ว่า "บ้านตลาดเก่า" จนถึงทุกวันนี้ ร่องรอยการตั้งที่เหลืออยู่ คือ ศาลที่เคารพนับถือของราษฎร เรียกว่า "โต๊ะหินขวาง"
อำเภอเมืองกระบี่ เดิมชื่อ "อำเภอปากน้ำ" เป็นชื่ออำเภอเมืองกระบี่ พ.ศ.2481 ที่ทำการเดิมเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มีขุนทำนุกนิกรเป็นนายอำเภอคนแรกและได้ปรับปรุงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อ พ.ศ.2533 ขณะนายเฉลิมชัย ปรีชานนท์ ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอเมืองกระบี่ ขณะนั้น เนื่องจากอาคารเกิดทรุดโทรม ค่าก่อสร้างประมาณ 3 ล้านบาทเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด

กระบี่ กระบี่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล จาก Trip Moments|คู่มือนักเดินทาง Trip.com

เนื้อที่/พื้นที่ 648,552 ตร.กม.
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกชุมตลอดปี และมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน

Visitors: 82,735